ประวัติความเป็นมา
มหาวิทยาลัยพิษณุโลก ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งเมื่อวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2545 ณ เลขที่ 693 ถนนมิตรภาพ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก ในชื่อของ วิทยาลัยพิษณุโลก มีเนื้อที่รวมทั้งหมด 8 ไร่ ผู้ขอรับใบอนุญาต คือ อาจารย์สุนทร รักเลี้ยง
ระยะแรกของการก่อตั้งวิทยาลัยพิษณุโลก เร่งเตรียมความพร้อมด้านอาคารสถานที่ ด้านบุคลากรทั้งสายการจัดการเรียนการสอนและสายสนับสนุน ด้านการจัดการเรียนการสอน วิทยาลัยพิษณุโลกได้มีความตระหนักในการจัดการเรียนการสอน และผลสัมฤทธิ์ที่เกิดกับผู้เข้ารับการศึกษา โดยวิเคราะห์ สังเคราะห์หลักสูตรที่จะจัดการเรียนการสอน และศึกษาความต้องการของตลาดแรงงาน เพื่อผลิตบัณฑิตให้ตรงต่อความต้องการของตลาด และรองรับการเปิดตลาดเสรีทางการค้าสู่อินโดจีน รวมทั้งศึกษาและพิจารณาถึงแผนแม่บทของชาติด้วย ต่อมา ได้หาสถานที่เพิ่มเพื่อรองรับการเจริญเติบโตของมหาวิทยาลัย โดยหาสถานที่เพิ่มอีก 92 ไร่ อยู่บริเวณสี่แยกอินโดจีน 93 หมู่ 5 ตำบลสมอแข อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก และได้สร้างอาคาร เพิ่มอีกหลายอาคาร เพื่อให้เพียงพอกับจำนวนนักศึกษาที่เพิ่มมากขึ้น และได้เปลี่ยนประเภทจากวิทยาลัยพิษณุโลก เป็นมหาวิทยาลัยพิษณุโลก เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2554 ในปัจจุบัน มหาวิทยาลัยพิษณุโลก มีเนื้อที่ทั้งหมด 100 ไร่ ดำเนินการสอนในระดับปริญญาตรี และระดับปริญญาโท
มหาวิทยาลัยพิษณุโลก เป็นมหาวิทยาลัยเอกชนระดับอุดมศึกษาแห่งแรกของจังหวัดพิษณุโลก ที่เริ่มเปิดดำเนินการตั้งแต่ปีการศึกษา 2547 เป็นต้นมา ซึ่งการสร้างชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยที่จะทำให้ชุมชน สังคมยอมรับ และมีจุดเด่นในการบริหารจัดการการศึกษานั้น สิ่งที่มหาวิทยาลัยควรตระหนักที่สุด คือ การพัฒนาวิชาการและการผลิตนักศึกษาที่มีคุณภาพ และมีจุดเด่นที่จะทำให้นักศึกษาเข้ามาศึกษาต่อในมหาวิทยาลัย คือ ความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ อันจะทำให้เกิดประโยชน์ต่อนักศึกษาในการนำความรู้ไปประกอบอาชีพ
สำนักวิชาการได้มีการดำเนินการพร้อมกับการก่อตั้งมหาวิทยาลัยพิษณุโลกเมื่อปี พ.ศ. 2547 โดยมีหน้าที่ความรับผิดชอบในการดำเนินงานด้านการส่งเสริม ประสาน ดูแล กำกับ ติดตาม การดำเนินการจัดการศึกษา เพื่อให้การจัดการศึกษามีคุณภาพ มาตรฐานทางวิชาการ ตามหลักเกณฑ์และมาตรฐานทางวิชาการและบริการให้มีคุณภาพ ประสิทธิภาพและทันสมัย ให้มีการจัดการเรียน การสอนเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของหลักสูตร ด้านการศึกษาระดับปริญญาตรีให้มีประสิทธิภาพ เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพและเป็นเลิศทางวิชาการสำนักวิชาการมีหน้าที่รับผิดชอบการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาระดับปริญญาตรี ประสานงานกับคณะบริหารธุรกิจ การพัฒนานักศึกษา การพัฒนาหลักสูตร และรวมถึงการพัฒนาอาจารย์ ซึ่งในปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่อเป็น สำนักวิชาการและพัฒนาการศึกษา (Academic and Development Office)